ไขข้อข้องใจค่าไฟของอพาร์ทเม้นท์

“ทำไมค่าไฟเดือนนี้แพงกว่าค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์เสียอีก” “นี่ขนาดฉันไม่ค่อยอยู่ห้องนะ ค่าไฟยังไม่ลดเลย” เสียงบ่นเหล่านี้มักเป็นคำคุ้นหูของผู้ที่อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ที่ต้องพบเจอปัญหากันทุกเดือน ซึ่งหลายคนคงมีข้อสงสัยว่าแล้วทำไมค่าไฟของอพาร์ทเม้นท์ถึงได้สูงนักเมื่อเทียบกับค่าไฟตามบ้านปกติทั่วไป
จากข้อมูลการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แจ้งว่าอัตราค่าไฟฟ้าจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ประเภท “บ้านพักอาศัย” ถือว่าอยู่ในประเภทที่ 1 โดยค่าไฟในแต่ละเดือนจะประกอบไปด้วยค่าพลังงานไฟฟ้า, ค่าบริการรายเดือน, ค่าไฟฟ้าผันแปร(FT) และภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อนำมาคำนวนบวกลบคูณหารแล้วเฉลี่ยค่าไฟจะอยู่ที่หน่วยล่ะ 3.97 บาทต่อหน่วย ส่วนอาคารที่เป็น “หอพัก” หรือ “อพาร์ทเม้นท์” จะอยู่ในประเภทที่ 5 คือจัดอยู่ในหมวด “กิจการเฉพาะอย่าง” เป็นการใช้ไฟฟ้าเพื่อนำไปประกอบกิจการโรงแรมและกิจกรรมเพื่อเช่าพักอาศัยตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 15 นาทีไปสูงถึง 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป ด้วยการผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องเดียว ฉะนั้นจึงมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงกว่าบ้านอยู่อาศัยปกติทั่วไป
แต่เมื่อนำมาเทียบกับการเรียกเก็บของเจ้าของอพาร์ทเม้นท์จะพบว่าเรียกเก็บค่าไฟในอัตราสูงกว่าที่การไฟฟ้าเรียกเก็บประมาณ 25-40% เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 7-9 บาทต่อหน่วยที่ผู้เช่าต้องจ่ายให้กับเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ทุกเดือน แล้วส่วนเกินที่ว่านี้เป็นค่าอะไรกันแน่??
ธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ขายห้องพักขาดเหมือนคอนโดมิเนียม ฉะนั้นแล้วความรับผิดชอบในส่วนต่างๆอาทิเรื่องการอำนวยความสะดวก, ดูแลความปลอดภัย, การบำรุงรักษาพื้นที่ส่วนกลาง ยังคงต้องอยู่ที่เจ้าของ ซึ่งเท่ากับว่าค่าไฟส่วนเกินที่เจ้าของมีการเรียเก็บเพิ่มก็นำมาเป็นค่าไฟฟ้าส่วนกลางโดยเฉพาะแสงสว่าง ตั้งแต่หน้าตึก ทางเดินภายในแต่ละชั้น และลิฟท์ เพราะบางอพาร์ทเม้นท์จะไม่มีการเรียกเก็บค่าส่วนกลางกับผู้เช่าห้องพัก ซึ่งถ้ายิ่งช่วงไหนมีผู้เข้าพักไม่เต็มทุกห้องแต่ไฟส่วนกลางก็ยังคงต้องเปิดเท่าเดิมเท่ากับว่าเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ก็ต้องแบกภาระค่าไฟในส่วนนี้ด้วยการควักกระเป๋าตัวเอง
นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมค่าไฟฟ้าของอพาร์ทเม้นท์ถึงได้เรียกเก็บอัตราต่อหน่วยสูงกว่าค่าไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยปกติ ทั้งนี้หากผู้เช่าอพาร์ทเม้นท์รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเรียกเก็บค่าไฟฟ้า ทางสคบ.ก็ได้เปิดช่องทางให้ผู้บริโภคหรือผู้เช่าสามารถที่จะเรียกร้องให้ทางสคบ.เข้าไปตรวจสอบก็ได้คะ